เตรียมรับมือกับวาตภัย

ปัญหาและการเตรียมรับมือกับวาตภัยอย่างทันท่วงที

วาตภัย เป็นภัยที่เกิดจากลมหรือพายุที่มีความรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในวงกว้าง วาตภัยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดพายุหมุนเขตร้อน เช่น พายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อน โดยเมื่อเกิดพายุจะทำให้เกิดลมแรง สามารถพัดให้บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้และเสาไฟ้าหักโค่น ป้ายโฆษณาพังถล่ม ซึ่งสร้างอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างรุนแรง แต่ถ้าพายุดังกล่าวเกิดในทะเลจะทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงพัดถล่มชายฝั่ง ซึ่งสามารถทำให้สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ชายฝั่ง เรือประมงหรือเรือประเภทอื่นๆเสียหาย ในบางครั้งพบว่าเรือขนาดใหญ่สามารถถูกลมแรงๆทำให้พลิกคว่ำได้ โดยอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดวาตภัยคือการเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดฝนตกฟ้าคะนองอย่างรุนแรงเฉียบพลัน มีลมพัดแรง และบ่อยครั้งที่พบว่ามีลูกเห็บตกร่วมด้วย

ประเทศไทยมีผลกระทบเนื่องจากพายุมีทั้งประโยชน์และโทษ พายุที่อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันมีประโยชน์ในแง่ที่ก่อให้เกิดฝนตกปริมาณมากซึ่งช่วยคลี่คลายสภาวะความแห้งแล้ง และสามารถกักเก็บน้ำไว้ตามแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆเพื่อใช้ในช่วงที่มีฝนน้อย ในส่วนที่เป็นโทษของพายุดีคืออุทกภัยซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง และโรคระบาดที่เกิดตามมาหลังจากเกิดอุทกภัย และเมื่อพายุมีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกจากวาตภัย เนื่องจากความเร็วลมตั้งแต่ 34 นอต (62 กม./ชม.) ขึ้นไปจะรุนแรงจนทำให้สิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงเสียหาย กิ่งไม้ต้นไม้หักโค่น และหากเป็นไต้ฝุ่นจะยิ่งมีความเสียหายมากขึ้น

ประเภทของวาตภัย

1.พายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน
2.พายุหมุนเขตร้อนต่างๆ เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล
3.พายุทอร์นาโด เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่นๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล

การเตรียมการป้องกันอันตรายจากวาตภัย

– ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ
– สอบถาม แจ้งสภาวะอากาศร้ายแก่กรมอุตุนิยมวิทยา
– ซ่อมแซม อาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร
– ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนอพยพหากจำเป็น
– เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่ วิทยุกระเป๋าหิ้วติดตามข่าวสาร
– เตรียมพร้อมอพยพเมื่อได้รับแจ้งให้อพยพ